บทความมุมสะท้อนจากภาพยนตร์ สู่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม

r

ข้อคิดวันหยุดยาว : 28/12/56 วันหยุดวันแรกก่อนสิ้นปี 56 เลยดูหนังวิทยาศาสตร์สนุกๆซะหน่อยครับ หนังเรื่อง ELYSIUM ครับ เป็นหนังวิทยาศาสตร์ในโลกอนาคตที่มนุษย์คนรวยจะอยู่บนยานแม่นอกโลก ซึ่งมีบรรยากาศที่ดี บริสุทธิสดใสกว่าบนโลกที่กำลังมีประชากรมากขึ้นจนล้นโลก ทรัพยากรขาดแคลน คุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาก ทุกคนจึงพยายามที่จะขึ้นไปมีชีวิตที่ดีกว่าบนยานอวกาศนอกโลกให้ได้ จึงเป็นเรื่องราวของเรื่องนี้ครับ

ดูแล้วติดใจอยู่ฉากหนึ่งครับ (อีกแล้ว) เป็นฉากที่พระเอกซึ่งทำงานเป็นพนักงานผลิตหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม หน้าที่หนึ่งของเขาคือเอาหุ่นยนต์ไปอาบรังสีเหมือนไปชุบแข็งโลหะที่ห้องอบรังสี แต่มีวันหนึ่งห้องอบรังสีไม่สามารถปิดห้องได้เนื่องจากมีส่วนหนึ่งของพาเรท (Pallet) ไปติดอยู่ ผู้ควบคุมงานผลิตสามารถทราบทันทีว่า Line ผลิตกำลังหยุดที่จุดนั้น และต้องทำให้ Line เดินต่อให้ได้โดยเร็วมิฉะนั้นผลผลิตจะลดลงทันที ซึ่งจะทำให้ผลิตไม่ได้ตามแผนการที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงได้สั่งให้พระเอกเราขยับพาเรทในห้องอบรังสีเข้าไปให้ได้เพื่อผลิตต่อให้ได้นั่นเองครับ พระเอกจึงเข้าไปในห้องอบเพื่อขยับพาเรท เมื่อพาเรทขยับเข้าที่ห้องอบจึงปิดประตูทันที ทำให้เขาได้รับรังสีเข้าไปเต็มๆ และนี่คือจุด Critical Point ของเรื่องนี้ครับ

ถามว่าทำไมผู้ควบคุมงานผลิตจึงทราบว่า Line ตรงไหนมีการหยุดผลิต และทำไมจึงต้องรีบแก้ไข และควรแก้ไขอย่างไรจึงเหมาะสม

คำตอบคือ ทุกกระบวนการมีการควบคุมในเรื่องของ Cycle Time ของกระบวนการผลิตนั่นเองครับ การควบคุมนั้นทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ติดตั้งตัว Counter Digital เพื่อจับเวลาการผลิตต่อชิ้นให้เห็นได้โดยเด่นชัดในทุกๆกระบวนการ, ติดตั้งระบบ Andon หรือ อันดง เพื่อเตือนว่ามีสิ่งผิดปกติในกระบวนการเกิดขึ้น หรือระบบเสียงหรือแสงเตือนเมื่อเวลา Cycle Time นานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ Line การผลิตหยุดโดยอัตโนมัติ เพราะ WIP ไม่สามารถส่งต่อไปได้ หรือ ส่งไม่ครบ หรือ ส่งของเสียไปให้ซึ่งทำให้ผลิตต่อไม่ได้นั่นเอง


สำหรับ SME บ้านเราคงไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น วิธีที่เหมาะสมคือ ทำระบบ Kanban เพื่อควบคุมการผลิตในแต่ละกระบวนการ และมีการตรวจสอบปริมาณชิ้นงานว่าครบตามแผนที่กำหนดให้ผลิตไว้หรือไม่ก็เพียงพอ ความถี่ของการตรวจสอบก็สามารถปรับได้ตามความเหมาะสม เช่น ทุกๆชั่วโมง ทุกๆครั้งวัน ทุกๆวัน เป็นต้น โดยให้หัวหน้างานหรือฝ่ายวางแผนเป็นผู้ตรวจสอบ หรือ ให้พนักงานหน้างานในกระบวนการถัดไปตรวจสอบด้วยกันเองก็ได้ และเมื่อไม่สามารถผลิตตามแผนที่กำหนดไว้ได้ ควรหยุดสายการผลิตทันที เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุและรีบทำการแก้ไขโดยเร็วโดยทีมงานการผลิตทั้งหมด และด้วยเครื่องมือและแผนการแก้ไขที่เหมาะสม Line การผลิตก็จะสามารถผลิตต่อไปได้อย่างรวดเร็วครับ


แต่หากไม่ต้องการหยุดสายการผลิตในทันที ก็ให้กำจัดชิ้นงานที่เสียชิ้นนั้นไปก่อน และทำชิ้นต่อไป และเมื่อไม่สามารถผลิตชิ้นงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ ก็ให้วางแผนการผลิตเพิ่มในกะหรือวันต่อไปแทนให้ครบ โดยการตรวจสอบที่ Kanban Card ครับ


เมื่อมีการวางแผนและตรวจสอบกระบวนการการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำตามความถี่ที่เหมาะสม ก็จะสามารถผลิตชิ้นงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนครับ

โดย อาจารย์อนันต์ ดีโรจนวงศ์